
วิเคราะห์ธุรกิจทีวี ธันเดอร์ในบทความนี้ เป็นมุมมองจากพี่แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง อดีตสมาชิกวงเฉลียง ซึ่งปัจจุบันคือรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ที่จะมาฉายภาพเบื้องหลังความสำเร็จของ TVT ที่เกิดการผสมผสานระหว่างศิลปะ และธุรกิจได้อย่างลงตัว
จากศิลปินสู่ผู้บริหารธุรกิจบันเทิง
จะว่าไปบริษัททีวี ธันเดอร์ ประกอบไปด้วยสองภาคส่วนคือ
- ศิลปะ การแสดง
- ธุรกิจ
สองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดงาน รายได้ และก็ธุรกิจขึ้นมา พี่เองไม่ได้เป็นคนมีความฝัน ไม่ได้มีเป้าหมายตั้งแต่สมัยเรียน เป็นแค่คนที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี แต่ไม่ถึงขนาด music is my life แต่ชอบความสนุกในการเล่นดนตรี และได้มีโอกาสไปเรียนครุศาสตร์เอกดนตรีที่จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ทำให้เราได้สนุกสนานกับการเล่นดนตรีกับเพื่อนกับพี่น้อง จนรู้สึกว่าชีวิตได้เจอสิ่งที่ชอบทำแล้วมีความสุข และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขคือการได้สอนและได้เป็นผู้ให้ ซึ่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยสอนให้เรารู้จักการเป็นผู้ให้ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง การทำงานเพื่อผู้อื่นแล้วค่อยนึกถึงตัวเอง ทำให้เราเรียนรู้ว่างานอะไรก็ตามที่ทำเพื่อผู้อื่นแล้วสำเร็จนั้นถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่

ความสุขของ “การเป็นผู้ให้”
ชีวิตหลังเรียนจบก็เล่นดนตรีเป็นอาชีพ พูดถึง วงดนตรีเฉลียง เริ่มจากทำกับเพื่อน ๆ สมัยมหาลัยที่เคยร่วมทำกิจกรรมด้วยกันมา ซึ่งเราชอบในการทำงานร่วมกับพวกเขาก็เลยได้มาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงเฉลียง ในตอนนั้นมีความสุขที่ได้ทำงานที่เราชอบและได้ให้ความบันเทิงกับผู้คน ผลงานที่เราสร้างได้ไปเป็นประโยชน์กับผู้อื่น นั่นคือจุดที่ทำให้รู้ว่าการทำงานประเภทนี้สอดคล้องกับตัวเรา
ตอนที่เป็นนักดนตรีวงเฉลียงมีโอกาสได้เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหลาย ๆ อัลบั้ม ซึ่งมีส่วนร่วมอีกมากมายหลายคนทั้งนักแต่งเพลง นักดนตรี นักทำมิวสิกวิดีโอนั่นแหละ เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ใช้ความสามารถของเราทั้งหมดในการเป็นโปรดิวเซอร์ นั่นคือทักษะความเป็นครูในการสอนให้นักดนตรีเกิดผลสำเร็จ ซึ่งเฉลียงเป็นวงที่อยู่ในบริษัทคีตา เร็คคอร์ดส พี่เองก็เป็นโปรดิวเซอร์ในบริษัทคีตาที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับค่ายเพลง นั่นแปลว่าพี่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจแล้ว
จากโปรดิวเซอร์เพลง สู่รายการทีวี
พี่ทำงานร่วมกับ คุณสมพงษ์ วรรณภิญโญ ทั้งคีตาและทีวี ธันเดอร์ ซึ่งในช่วงนั้น วงการเพลงเริ่มมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ต่าง ๆ พี่สมพงษ์ จึงมองไปถึงธุรกิจอื่นที่เทียบเคียงกันก็คือ การทำรายการโทรทัศน์ เพราะพี่สมพงษ์มองว่าตอนที่เราทำค่ายเพลงสิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมท เพราะฉะนั้นทำให้เห็นถึงการลงตัวในธุรกิจ จนเกิดธุรกิจนี้ขึ้นมาภายภายใต้ชื่อบริษัททีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็มีการกลับไปทำเพลงเล็ก ๆ น้อยในค่าย บลูสกาย เรคคอร์ด เพื่อส่งเสริมละคร พี่มองว่าศิลปะมีสิ่งที่ทับซ้อนกันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ทั้งการทำเพลงเเละรายการโทรทัศน์
พอเริ่มต้น และได้มีหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกัน ทำให้เกิดคอนเทนต์เกิดผลงานที่หลากหลายยิ่งขึ้นหรือแม้แต่ในเชิงธุรกิจในการซื้อลิขสิทธิ์มาทำแล้วเรามาปรุงแต่งให้เข้ากับคนไทย
วิเคราะห์ธุรกิจ – เติบโตได้ด้วยคุณธรรม
เรื่องแนวคิด เริ่มจากคุณสมพงษ์ ผู้ก่อตั้งทีวี ธันเดอร์ เป็นผู้ที่ทำอะไรแล้วต้องทำให้ดี ที่มาของสิ่งที่เกิดขึ้นต้องดีด้วยไม่ใช่ดีแค่ผลลัพธ์ รวมถึงการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จึงเริ่มตั้งแต่ การเลือกคนที่ดี เลือกของที่ดี เพื่อจะได้ชิ้นงานที่ดี กระบวนการตั้งต้นจึงถูกหล่อหลอมให้มีแต่สิ่งดี ๆ พอถึงการทำงานเมื่อที่มาดีแล้วเราก็ต้องทำให้มีระบบงานที่ดีมีมาตรฐาน เพราะฉะนั้นตั้งแต่ คุณสมพงษ์ ตัวพี่ และคนอื่น ๆ ที่มาทำงานร่วมกันถูกปลูกฝังด้วยวิธีนี้มาตลอด พี่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ทำให้ไม่ว่างานจะใหญ่แค่ไหนทีวี ธันเดอร์ก็สามารถทำให้สำเร็จได้
ทำอะไรแล้วต้องทำให้ดี ไม่ใช่ดีแค่ผลลัพธ์ แต่ต้องเริ่มจากการเลือกคนที่ดี เลือกของที่ดี เพื่อจะได้ชิ้นงานที่ดี
– สมพงษ์ วรรณภิญโญ –
เวลาเราไปซื้อลิขสิทธิ์หรือไลเซ่นส์จากบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ เรามักจะได้คำชมและความไว้ใจ เพราะเราทำมาตรฐานได้ใกล้เคียงกับเขา นั้นคือสิ่งที่เราตั้งใจ
Passion ที่เหมือนกัน – ลดช่องว่างระหว่างวัย
ถ้าพูดเรื่องทัศนคติและไลฟ์สไตล์คงปรับกันลำบาก พี่ว่าทุก Generation ทั่วโลกมีความเปลี่ยนแปลงและทัศนคติที่ต่างกัน พี่คิดว่าคนที่เข้ามาทำงานกับ TV Thunder มีความพร้อมและมีระบบความคิดที่เริ่มจาก 4-5 สิ่งที่พี่คิดว่าทำให้ทำงานร่วมกันได้ คือต้องมีความรักงานเดียวกัน ต้องการสร้างงานร่วมกัน รวมถึงต้องเป็นคนที่มีจริยธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ TV Thunderใช้ในการทำงานร่วมกัน”

เทคโนโลยีเปลี่ยน มนุษย์ไม่ได้เปลี่ยน !!!
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมาก คือ เทคโนโลยี เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก เทคโนโลยีทำให้โอกาสคอนเทนท์อื่น ๆ ในโลกนี้เข้าไปอยู่ในสื่ออีกมากมายแทนที่ทีวี
แต่ความเปลี่ยนแปลงในมนุษย์มีความเปลี่ยนแปลงช้า หมายความว่า มนุษย์ยังคงชอบความหอม ภาพสวย เสียงไพเราะ และยังชอบความดี คือการจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยนกันง่าย ๆ แต่เมื่อมนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการขึ้นมาได้ จึงเกิดเป็นศิลปะแขนงต่าง ๆ มีทักษะในการประดิษฐ์ คำนวณ จินตนาการ มีพัฒนาการ จนทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีศิลปะเป็นส่วนหนึ่ง
และความเปลี่ยนแปลงของการเสพศิลปะ จะช่วยให้เทคโนโลยีกลับมางดงามให้มีจินตนาการ เพราฉะนั้น ถ้าเราเป็นผู้ผลิต ความท้าทายคือเราสามารถผลิตคอนเทนท์ที่ดีเหล่านั้นได้ แบบที่คนเขาอยากเห็น และเราก็ทำได้ ถึงมันจะยาก จะท้าทาย เราก็ทำได้สำเร็จจนสามารถไปถึงระดับโลกได้แล้ว